พลิกฟื้นคืนตำนานยอดวิชาธาตุโบราณ อันพิสดารของผู้ปฏิบัติจริงในเรื่องธาตุ

พลิกฟื้นคืนตำนานยอดวิชาธาตุโบราณ
อันพิสดารของผู้ปฏิบัติจริงในเรื่องธาตุ

ธาตุเป็นใหญ่ในจักรวาล จิตก็เป็นธาตุคือ ” ธาตุจิต “ ระบบภูมิปัญญาโบราณได้กล่าวถึงความสัมพันธ์ของ ธาตุ ชีวิต และสิ่งแวดล้อมไว้อย่างสมบูรณ์แบบและลงตัว เชื่อมโยงถึงศาสตร์ต่างๆ เช่น

หลักการของธาตุในตำราไสยศาสตร์ ไทย กล่าวไว้ว่า “ ธาตุนี้เป็นใหญ่ เทพยดา อินทร์พรหม มนุษย์ และสรรพสิ่งต่างๆ ในภพนี้จะมีชีวิตอยู่ได้ก็เพราะธาตุ ถ้าหาธาตุมิได้แล้ว โลกทั้ง 3 นี้ก็จะสูญสิ้นไป เหตุฉะนี้ ท่านจึงได้สรรเสริญธาตุเป็นใหญ่ ถ้าบุคคลผู้ใดได้รู้วิชชาธาตุก็ประเสริฐนักแล.”

หลักการ “หมุนเวียน” ของลัทธิเต๋า กล่าวถึงกฎการสร้างและการทำลาย ซึ่งเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับธาตุต่างๆ คือ การสร้างไฟ สร้างดิน ดิน สร้างโลหะ โลหะ สร้างน้ำ น้ำ สร้างไม้ ไม้ สร้างไฟ การทำลาย ไม้ ทำลายดิน(โดยการปกคลุม) ไฟ ทำลายโลหะ (โดยการหลอมละลาย) ดิน ทำลายน้ำ(โดยการกั้นขัง) โลหะ ทำลายไม้(โดยการตัด) น้ำ ทำลายไฟ(โดยการดับ)

หลักวิชาการแพทย์โบราณ ในพระคัมภีร์ธาตุวิภังค์ อันเก่าแก่ของไทย ได้ให้ความสำคัญกับธาตุทั้ง ๔ และอิทธิพลของฤดูกาล โดยเชื่อว่า ธาตุทั้ง ๔ จะต้องอยู่ในภาวะสมดุลกับร่างกายจึงจะไม่เจ็บป่วย โดยธาตุดินอาศัยน้ำทำให้ชุ่มและเต่งตึง อาศัยลมพยุงให้คงรูปและเคลื่อนไหว อาศัยไฟให้พลังงานอุ่นไว้ไม่ให้เน่า น้ำต้องอาศัยดินเป็นที่เกาะกุมซับไว้มิให้ไหลเหือดแห้งไปจากที่ควรอยู่ อาศัยลมทำน้ำไหลซึมซับทั่วร่างกาย ลมต้องอาศัยน้ำและดินเป็นที่อาศัย นำพาพลังไปในที่ต่างๆ ดินปะทะลมทำให้เกิดการเคลื่อนที่แต่พอเหมาะ ไฟทำให้ลมเคลื่อนที่ไปได้ ในขณะที่ลมสามารถทำให้ไฟลุกโชน เผาผลาญมากขึ้นได้ จะเห็นได้ว่าธาตุทั้ง ๔ ต่างอาศัยซึ่งกันและกัน จะขาดสิ่งใดสิ่งหนึ่งไม่ได้ และหากธาตุใดธาตุหนึ่งแปรปรวนก็จะเสียความสมดุลทันที

หลักการของศาสตร์ต่างๆ ตามหลักของศาสตร์โบราณอันเป็นรากเหง้าของศาสตร์สมัยใหม่ ก็ล้วนมีความสัมพันธ์กับเรื่องธาตุ เช่น หลักดาราศาสตร์ โหราศาสตร์ คัมภีร์พิชัยสงคราม เป็นต้น

ภูมิปัญญาโบราณส่วนใหญ่ จะเน้นความสำคัญของจิตใจมากกว่าวัตถุซึ่งนำไปสู่แนวความคิดที่ว่า สาเหตุที่วัตถุและสิ่งภายนอกทั้งหลายวิปริตแปรปรวน ก็เนื่องมาจากศีลธรรมในจิตใจมนุษย์เสื่อมลงนั่นเอง

ธาตุลมกำเริบ แผ่นดินไหว ในปรินิพพานสูตร พระพุทธองค์ ได้ตรัสบอกเหตุแห่งแผ่นดินไหวแก่ พระอานนท์ ว่าเกิดจากเหตุ ๘ ประการคือ

๑. ลมกำเริบ
๒.ท่านผู้มีฤทธิ์บันดาล
๓.พระโพธิสัตว์จุติจากดุสิตลงสู่พระครรภ์
๔. พระโพธิสัตว์ประสูติ
๕. พระตถาคตเจ้าตรัสรู้อนุตตรสัมมาสัมโพธิญาณ
๖.พระตถาคตเจ้าแสดงธรรมจักรกัปปวัตนสูตร
๗.พระตถาคตเจ้าปลงอายุสังขาร
๘.พระตถาคตเจ้าปรินิพพานด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ

มูลเหตุจากข้อ ๓ – ๘ นั้นย่อมไม่มีอันตรายแก่สัตว์โลกแต่อย่างใด จะมีก็แต่เรื่องลมกำเริบกับผู้มีฤทธิ์บันดาลเท่านั้น เรื่องของลมกำเริบนี้ครูบาอาจารย์ผู้มีญาณหยั่งรู้ ท่านเล่าว่าไม่ใช่แค่ลมหรือพายุที่พัดให้เห็นบนพื้นโลกนี้เท่านั้น แม้ใต้พื้นโลกที่ลึกลงไปก็เต็มไปด้วยลมร้อนที่มีแก๊สแรงดันสูงอยู่มากมายมหาศาลเคลื่อนตัวอยู่

สัตว์ทั้งหลาย เข้ากันได้ คบกันได้… โดยธาตุ

ในธาตุโสสังสันทนสูตร มีข้อความว่า

“ ภิกษุทั้งหลาย เมื่อว่าโดยธาตุ สัตว์ทั้งหลาย เข้ากันได้ คบกันได้ กับสัตว์คือ สัตว์ที่มีนิสัยเลว เข้ากันได้ คบกันได้ กับสัตว์ที่มีนิสัยเลว สัตว์ที่มีนิสัยดีงาม เข้ากันได้ คบกันได้ กับสัตว์ที่มีนิสัยดีงาม ”

ในสตาปารัทธสูตร มีข้อความว่า “…..ดูกรภิกษุทั้งหลาย น้ำนมสดกับน้ำนมสดย่อมเข้ากันได้ ร่วมกันได้ น้ำมันกับน้ำมันย่อมเข้ากันได้ ร่วมกันได้ เนยใสกับเนยใสย่อมเข้ากันได้ ร่วมกันได้ น้ำผึ้งกับน้ำผึ้งย่อมเข้ากันได้ ร่วมกันได้ น้ำอ้อยกับน้ำอ้อยย่อมเข้ากันได้ ร่วมกันได้ แม้ฉันใด สัตว์ทั้งหลายก็ฉันนั้นแล ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน โดยธาตุเทียว คือสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี ย่อมคบค้ากัน ย่อมสมาคมกัน กับสัตว์จำพวกที่มีอัธยาศัยดี…..” คำว่าธาตุกินความหมายกว้างไปถึงอัธยาศัยด้วย

ตามอรรถกถาคำว่า “ธาตุ” มีความหมายครอบคลุมกว้างขวางมาก เพราะนอกจากจะหมายถึง ธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ซึ่งรวมแล้วเรียกได้ว่าเป็น “วัตถุธาตุ” หรือ “รูปธาตุ” แล้ว ก็ยังมี “อรูปธาตุ” หรือธาตุที่เป็นนามธรรม การศึกษาเกี่ยวกับธาตุอย่างละเอียดในแง่ของลักษณะและคุณสมบัติของธาตุเหล่านี้มีผลทำให้คนเราเข้าใจธรรมะและความว่างได้มากยิ่งขึ้น แม้ว่ามุมมองเรื่องของธาตุในบางด้านดูค่อนข้างจะชวนให้มัวเมาลุ่มหลงอยู่กับเรื่องของอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์มากจนเกินไป แต่อานิสงส์อันยิ่งใหญ่ของธาตุกรรมฐานที่ไม่อาจปฏิเสธได้นั้นก็คือ การทำให้คลายความยึดมั่นถือมั่นในบุคคลตัวตนเราเขา ซึ่งกลับจะดูเหมือนพุ่งตรงไปสู่เป้าหมายของความรู้แจ้งและการหลุดพ้นเลยทีเดียว

จากธาตุกรรมฐาน สู่ต้นธารแห่งความเมตตา

คำว่า “เมตตาธรรมค้ำจุนโลก” นั้นเป็นหลักความจริงที่ยอมรับกันทั่วไปในทุกชาติศาสนา แต่ในความเป็นจริงแล้วมิใช่ว่าจะสร้าง เมตตาธรรม อันบริสุทธิ์กันได้ง่ายๆ มีพระวิปัสสนาจารย์อาวุโสและนักปฏิบัติธรรมท่านได้ให้คำอธิบายว่า เมตตาของปุถุชนนั้นยังเจืออยู่ด้วยราคะคือความกำหนัด ยินดีทางกามรมณ์และความยึดถือตัวตนอยู่มาก ผู้ที่จะเจริญเมตตาพึงพิจารณากายตนเองว่าประกอบด้วยอาการ 32 คือ เกสา ผม โลมา ขน…ฯลฯ เป็นต้น รวมทั้งพิจารณาโดยความเป็นธาตุ ก็จะคลายความกำหนัดยินดีและการยึดมั่นในตัวตน ก็จะรักตนเองได้อย่างถูกต้องคือ “เมตตาตน”

เมื่อรักตนเองได้อย่างถูกต้องก็จะสามารถรักผู้อื่นได้อย่างถูกต้องเช่นกันคือ “เมตตาผู้อื่น”(เพราะตนเองกับผู้อื่นก็ไม่ต่างกัน มี ธาตุสี่ ขันธ์ห้า

อันเป็นก้อนทุกข์ มี โลภ โกรธ หลง ครอบงำให้จมอยู่ในความทุกข์) จากนั้นก็จะเจริญกลายเป็นเมตตาธรรมแผ่ไปในทิศทั้งปวง

ผู้ฝึกฝน ธาตุกรรมฐาน ย่อมพิจารณาทั้งธาตุภายในกายตนเองอันมีอยู่ในอาการ 32 และธาตุภายนอกอันมีอยู่ในธรรมชาติ เป็นเหตุให้คลายความกำหนัดยินดีและความยึดมั่นถือมั่นสำคัญตนว่าเป็นเราเป็นเขา ย่อมจะสามารถกำจัดอุปสรรคหรือข้าศึกที่คอยขัดขวางเมตตาธรรมได้ สามารถสร้างเมตตาธรรมอันบริสุทธิ์ ค้ำจุน สิ่งแวดล้อม โลก และจักรวาล ได้ในที่สุด

เรื่องของธาตุมีมาแต่ยุคฤาษีชีไพร

คำว่า “มุนี” “ฤาษี” “ชีไพร” “ดาบส” และ “ตาปโส” เป็นคำเรียกผู้ทรงศีลที่ชอบปลีกวิเวกเร้นกายอยู่ในที่สงัด เช่น ป่าเขาลำเนาไพร ถ้ำ เป็นต้น เพื่อบำเพ็ญตบะอย่างอิสระเสรี แม้ว่าความหมายนี้ส่วนใหญ่เป็นที่เข้าใจกันว่าหมายถึงนักบวชในศาสนาพราหมณ์และลัทธิเต๋า แต่โดยความเป็นจริงแล้ววิถีชีวิตเช่นนี้ เป็นวิถีชีวิตโบราณดั้งเดิมวิถีหนึ่งที่ต้องยอมรับกันว่ามีอยู่ทั่วโลกและยืนยงคงอยู่มานานคู่กาลสมัยและคู่โลกก็ว่าได้ ท่านเหล่านี้ถือสันโดษ เป็นตัวของตัวเอง และมีอิสระในหลักและวิธีปฏิบัติตนซึ่งอาจมีทั้งแบบรวมกันเป็นหมู่คณะแบบ “มีสังกัด” หรือ โดดเดี่ยวแบบ“ ไร้สังกัด” ก็ได้ ไม่ว่าคนในยุคสมัยใดจะมองว่าดีหรือร้ายอย่างไรก็ตาม ในเบื้องลึกแล้ว ผู้คนก็ต้องยอมรับว่าผู้ที่ดำรงอยู่ในวิถีชีวิตเช่นนี้แหละคือผู้ที่มักจะค้นพบที่มาหรือรากเหง้าของภูมิปัญญาอันสำคัญของมนุษยชาติ

พวกฤาษีมักจะเชี่ยวชาญในเรื่อง การเพ่งฌาน พระเวท และศาสตร์ต่างๆ ตลอดจนเรื่องของ ธาตุ อันเป็นภูมิปัญญาที่มีมาก่อนสมัยพุทธกาล พระพุทธองค์ได้ทรงโปรดเหล่าฤาษีในโลกและชั้นภูมิต่างๆ ให้มีดวงตาเห็นธรรมมามากต่อมากและเป็นที่ทราบกันดีว่า ต่อมาฤาษีก็กลายเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการปกป้องพิทักษ์รักษาและเผยแผ่พระพุทธศาสนา

ใช้ “ธาตุ” หรือ “คาถาธาตุ” เป็นองค์บริกรรมภาวนาจนจิตสงบเป็นสมถะกรรมฐาน ดวงจิตมีอำนาจเหนือธาตุต่างๆ สามารถจะนำมาใช้คุณประโยชน์และบันดาลให้เกิดอิทธิฤทธิ์ปาฏิหาริย์ต่างๆได้มากมาย ต่อไปเมื่อภูมิจิตภูมิธรรมสูงขึ้น ก็จะสามารถแยกธาตุแยกขันธ์รู้แจ้งแทงตลอดในวิปัสสนาญาณจนปล่อยวางสู่นิพพานได้

การฝึกฝนธาตุนั้นมีข้อดีคือจะรู้ในร่างกายของตนว่าเจ็บป่วยหรือสมบูรณ์ดีอย่างไร ร่างกายต้องการธาตุอะไรบ้าง จะกินอะไรเข้าไปจึงจะพอเหมาะ และทำให้แข็งแรง นอกจากรู้ในตนเองแล้วยังรู้เกี่ยวกับคนอื่นและสถานที่ต่างๆ ด้วย เช่น บ้านไหนมีคนป่วยหรือมีคนจะตายก็รู้ สามารถ “หนุนธาตุ” และ “แปรธาตุ” ต่างๆได้ไม่รู้จบ

การเจริญธาตุที่จะนำพาให้เข้าถึงแก่นธรรมได้นั้นคือ ธาตุกรรมฐาน ที่พระพุทธองค์ทรงแสดงไว้ คือทำให้คลายความยึดมั่นถือมั่น ในขณะเดียวกัน ผู้ฝึกฝนก็ย่อมจะมีความรู้ความเข้าใจและความชำนาญในเรื่องของธาตุเป็นพิเศษ ฉะนั้น การฝึกฝนยอดวิชาเดินธาตุโดยมิได้ซาบซึ้งเข้าถึงธาตุกรรมฐาน จึงเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากยิ่งหรือแทบเป็นไปไม่ได้เลย แต่สำหรับผู้เจริญธาตุกรรมฐานจนจิตได้รับความสงบ หากต้องการเข้าถึงยอดวิชาเดินธาตุก็ย่อมเป็นสิ่งที่ทำได้ง่าย

อิทธิฤทธิ์ กับ อันตราย

มีเรื่องราวที่เปรียบเทียบให้เห็นอันตรายหรือบาปกรรมที่เกิดจากการกระทำว่า ถ้าบุรุษกำยำล่ำสันแข็งแรงถือดาบคมตั้งใจจะฆ่าคนในชั่วอึดใจอย่างมากก็ฆ่าได้เพียงยี่สิบสามสิบคนเท่านั้น แต่ผู้มีฤทธิ์สามารถฆ่าได้เป็นหมื่นเป็นแสนคน คิดดูว่าอันตรายของการใช้ฤทธิ์นั้นมีมากมายแค่ไหน การควบคุมคนไม่ดีที่มีฤทธิ์นั้นเป็นเรื่องยากเย็นแสนเข็ญเพียงไร เรื่องของวิชาธาตุที่ทรงอานุภาพก็เช่นกัน แม้จะปกปิดซ่อนเร้นและมีข้อจำกัดเพียงไรก็ยังมีผู้ศึกษาและนำไปใช้ในการสงครามกันอย่างกว้างขวางในอดีต นอกจากนี้ก็ยังมีผู้นำไปใช้ในการเบียดเบียนและเอาเปรียบผู้อื่น ลองคิดดูเถิดว่าทำไมปรมาจารย์ในอดีตถึงได้ป้องกันวิชาของท่านนักหนา ก็เพราะท่านต้องป้องกันอันตรายและบาปกรรมนั่นเอง มิเช่นนั้น การให้วิชาก็ไม่ต่างกับการโยนมีดและของมีคมให้เด็กเล่น ผู้เล่นที่ไม่เข้าใจ เล่นไม่เป็น และควบคุมไม่ได้ ก็จะเกิดโทษ

สูตรพิสดาร เคล็ดลับ และความขลัง ก่อนอื่นนั้นคงต้องยอมรับว่า ทุกๆส่วนในสังคมสมัยโบราณย่อมมีความแตกต่างจากปัจจุบัน ลักษณะของการถ่ายทอดวิชาของคนแต่ก่อนแม้ว่าค่อนข้างจะมีสูตรที่พิสดารและยากจะเข้าใจ แต่ก็มีนัยแฝงด้วยคุณค่าและความหมายไม่น้อย

การท่องจำ เป็นเรื่องสำคัญยิ่งในสมัยก่อน แม้แต่การเรียนพระไตรปิฎกก็ถือเป็นของสูง ต้องท่องเนื้อความเป็น ปริมัท ซึ่งมีความเชื่อมโยงทั้งอักขระและธาตุ วิชารวมธาตุนั้นเล่ากันว่า ต้องเอากระดานชนวนมาเขียนตัวบทกลับไปกลับมาเพื่อให้ลงเป็น 12 เขียนๆลบๆอยู่ทั้งคืนจนใกล้สว่างจึงสำเร็จวิชารวมธาตุ เป็นการถ่ายทอดวิชาแบบให้ดูได้เพียงครั้งเดียว ต้องอาศัยความตั้งใจอย่างแรงกล้าและความทรงจำอันอันเยี่ยมยอด ในการดูและอ่านจบเพียงรอบเดียว แล้วก็หลับตาบริกรรมจนจำได้ พอจำได้แล้วก็เผากระดาษที่จารึกพระคาถานั้นให้ไหม้เป็นขี้เถ้า เอามาเคล้าน้ำมันแล้วทาทั่วตัว จากนั้นก็บริกรรมไปเรื่อยๆจนขึ้นใจ ไม่อาจจะจารึกเป็นอักษรบอกต่อ เพราะมีข้อห้ามคือ ห้ามจด ห้ามเขียนบันทึก จะสอนกันได้แต่ปากเปล่าเท่านั้น อนุชนรุ่นหลังพึงได้เข้าใจว่า ทำไมวิชาเดินธาตุจึงไม่ปรากฏเป็นวิชาที่ศึกษาหาความรู้ได้เป็นสากล การสืบสายวิชานั้นก็ต้องเคารพและเคร่งครัดในหลักเกณฑ์ของเจ้าตำรับวิชา เพราะเป็นเรื่องของสัจจะและยังมีหลายสิ่งหลายอย่างที่ลึกซึ้งที่เรายังไม่อาจเข้าใจได้ทั้งหมด

ติดต่อบูชา LINE : @namotasa

You cannot copy content of this page