
-
การประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ของล้านนานั้น ผู้ประกอบพิธีจะต้องมีเครื่องบูชาครู ซึ่งเรียกกันว่า
“ขั้นตั้ง” เช่น ก่อนจะปลูกบ้านเจ้าของบ้านจะแต่งดาขันครูให้กับหัวหน้าช่างเรียกว่า “ขันตั้งสล่า” เมื่อมีการตายเกิดขึ้นจะมีชาวบ้านมาช่วยกันทำเรือนศพ เจ้าภาพจะแต่งดาขันครูให้กับหัวหน้าทำเรือนศพ เรียกว่า “ขันตั้งทำไม้ศพ” - แม้แต่ในวัดจะสร้างอุโบสถ วิหาร ศาลา ก็มีการแต่งเครื่องขันตั้งให้กับหัวหน้าช่าง เมื่อจะมีงานมหรสพ ทางเจ้าภาพจะต้องแต่งเครื่องขันตั้งให้กับช่างซอ เพราะเชื่อสืบต่อกันมาว่า ช่าง ศิลปินต่าง ๆ ล้วนมีครูผู้สอนทั้งสิ้น ดังนั้นเมื่อลูกศิษย์จะกระทำสิ่งใดที่ต้องใช้วิชาที่ร่ำเรียนมา ให้คิดถึงบุญคุณของครูบาอาจารย์เสมอ และยังเชื่อต่อกันอีกว่า ถ้าไม่บูชาครูก่อนแล้วกระทำงานใด ๆ อาจจะมีอุปสรรค มีสิ่งขัดขวาง และอาจจะมีเหตุร้ายเกิดขึ้นกับตัวเองและลูกน้อง
ด้วยเหตุที่ทำสิ่งใดต้องบอกกล่าวให้ครูบาอาจารย์ อาราธนาครูบาอาจารย์มาช่วยเหลือในกิจการนั้นๆ ให้สำเร็จเป็นที่เรียบร้อย ดังนั้นเมื่อครบรอบ 1 ปีจึงมีการทำพิธีไหว้ครู เริ่มต้นจากครูคนแรกจะเป็นผู้ไหว้ครู ถ้าเป็นครูที่มีลูกศิษย์มากจะมีพิธีไหว้ครูที่ใหญ่โต โดยมีลูกศิษย์มาช่วยงาน บางงานจะมีมหรสพมาแสดง ที่นิยมกันสมัยก่อนคือการขับซอ บางงานจะมีวงปี่พาทย์มาบรรเลง ถ้าเป็นศิลปินใหม่ที่ยังไม่มีลูกศิษย์มากจะแต่งเครื่องไหว้ครูและทำพิธีแบบง่ายๆ
.
- ส่วนการไหว้ครูขนาดใหญ่ ซึ่งปัจจุบันจะหาดูได้จาก การไหว้ครูของคนทรงเจ้าที่ยังใช้วิธีการไหว้ครูแบบโบราณอยู่ จะแต่งเครื่องไหว้ประกอบด้วยขันใส่กรวยดอกไม้ธูปเทียน กรวยใส่หมากพลู อย่างละ 108 ชุด น้ำส้มป่อย หัวหมูต้ม เป็ดต้ม ไก่ต้ม ปลาต้ม เหล้าสุรา กล้วยน้ำว้า ขนมต่างๆ ผลไม้ตามฤดูกาล
- เมื่อได้เวลาเจ้าภาพจะยกเครื่องไหว้ครูขึ้นระดับหน้าผาก พร้อมกับอัญเชิญครูทุกครู ทั้งครูเค้า ครูปลาย ครูที่ตายไปแล้วก็ดี ครูที่ยังมีชวิตอยู่ก็ดี ขอให้มารับเครื่องไหว้เหล่านี้ เมื่อมารับแล้วขอเชิญให้มาปกปักรักษาลูกศิษย์ทั้งหลายให้อยู่เย็นเป็นสุข กระทำการใดๆ ให้มีเตชะอานุภาพ แล้วยกเครื่องสักการบูชาขึ้นตั้งบนหิ้งครู จากนั้นลูกศิษย์ที่มาร่วมงานทุกคนจุดธูปเทียนบูชาครูเพื่อขอพร แล้วรอจนธูปที่บูชาดับหมด อาจารย์ที่เป็นประธานจะให้นำหมู เป็ดไก่ อาหารทุกอย่างเข้าโรงครัวเพื่อปรุงอาหารเลี้ยงทุกคน ถ้ามีมหรสพก็จะชมมหรสพจนถึงเย็น เป็นอันเสร็จพิธีไหว้ครูแบบล้านนา
- ทุกคนที่เกิดมาต้องมีครูเริ่มแต่ในครอบครัวมีพ่อแม่ ญาติพี่น้องเป็นครูเรามาตั้งแต่เรายังเล็กแต่ผีครูที่จะเล่านี้เป็นผีครูที่สั่งสอนศิลปะวิชาการแก่ลูกศิษย์โดยเฉพาะวิชาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน วิชาที่ต้องใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพ เช่นว่า ศิลปะการขับซอ การป้องกันตัว การทำให้ผู้อื่นเคารพนับถือ เป็นต้น
- ผู้คนสมัยก่อนจะแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง ไปหาวิชาที่ตนเองต้องการ บางคนไปเรียนเป็นช่างซอ(ศิลปินซอพื้นบ้านล้านนา) บางคนชอบการต่อสู้ก็ไปเรียนศิลปะการรำเจิง(เชิงการต่อสู้) ทั้งเจิงดาบ เจิงมวย เจิงฆ้อนสองหัว เจิงมือเปล่า เป็นต้น บางคนไม่อยากเจ็บตัวก็ไปเรียนวิชามหาเสน่ห์(มหานิยม)ขั้นตอนการเรียนเริ่มจาก
- ลูกศิษย์นำข้าวตอกดอกไม้ธูปเทียนตามจำนวนครูกำหนดไปไหว้สาครูฝากตัวเป็นลูกศิษย์ขั้นตอนนี้เรียกกันกันว่าการ “ขึ้นครู” คือเริ่มขึ้นต้นให้ครูได้สอนวิชาการตามที่ต้องการเมื่อเรียนไปกับครูอยู่นั้น ถึงเวลาที่ครูจะต้องเลี้ยงผีครูของตนเอง ครูจะบอกลูกศิษย์เตรียมข้าวของเครื่องสังเวยมาร่วมกับครูช่วยกันประกอบพิธีเลี้ยงครูขั้นตอนนี้เรียกกันว่า “เลี้ยงผีครู”ทำให้ลูกศิษย์ได้ประสบการณ์ในพิธีการเลี้ยงครูเป็นความรู้ติดตัวเมื่อตนเองจะต้องเลี้ยงผีครูในอนาคต
- ในขณะที่เรียนอยู่ ลูกศิษย์อาจมีอาการป่วยไข้ หรือมีสิ่งที่ไม่พึงประสงค์เกิดขึ้นแก่ศิษย์ระหว่างเรียนเช่น ศิษย์อาจล่วงเกินครูโดยไม่ตั้งใจ โดยการเผลอ ฯลฯ. ถึงตอนนี้ลูกศิษย์ต้องทำการ “ยื่นโยงผีครู” โดยการนำเครื่องสักการะบูชามาบอกกล่าวยื่นโยงขอโทษผีครูขอให้ผีครูยกโทษ หรือช่วยรักษาอาการป่วยไข้ให้แก่ลูกศิษย์ผู้ที่ประกอบพิธีก็คือครูผู้สอนนั่นเอง
เมื่อศิษย์เรียนจบครูผู้สอนก็จะทำการแบ่งปันเครื่องสักการะบูชาได้แก่ สวยดอกไม้ หมากพลู ธูปเทียนแล้วแต่ละครูจะกำหนด การแบ่งเครื่องสักการะนี้ถือว่าศิษย์เรียนจบแล้วครูจึงแบ่งเครื่องสักการะแก่ศิษย์นำไปตั้งขันครูของตนเองขั้นตอนนี้เรียกกันว่า “แบ่งครู “ ลูกศิษย์จะนำเครื่องสักการะที่แบ่งมาจัดตั้งขัน(พาน)ครูของตนเอง ใส่ไว้บนหิ้งผีครูบนบ้านทำการบูชา เปลี่ยนเครื่องสังเวยตามที่ครูผู้สอนกำหนด อย่างเช่นของลุงหนานพรหมมาต้องทำการบูชาครูเมื่อวันพญาวัน(วันเถลิงศก)ของปี๋ใหม่เมือง (สงกรานต์) วันเข้าพรรษา และวันออกพรรษาทุกปี สรุปแล้วลุงหนานต้องทำการบูชาครูปีละสามครั้ง อย่างนี้เป็นต้น เมื่อทำการแบ่งปันครูนั้นก่อนที่จะออกจากบ้านครูผู้สอนท่านจะกำหนดให้ก๋ำ(ถือปฏิบัติ)ตนให้กระทำ หรือยกเว้นการกระทำเช่นว่า วิชาข่ามคง(คงกระพัน)จะต้องไม่กินแกงฟักหม่น(ฟักเขียว) ห้ามลอดปื๊นขี้หม่า(ใต้ถุนครัวไฟ)ห้ามลอดแร้ว ห้ามลอดต้นกล้วย ห้ามกินอาหารบ้านศพ เป็นต้น หากเป็นครูศิลปินซอขับขาน รำฟ้อน บางครูห้ามผิดศีลห้า ห้ามขับซอโดยไม่มีปี่เป่าให้ทำนองห้ามสอนคนต่อไปหากยังไม่ผ่านเวลาสิบปี เป็นต้น หากเป็นครูสะหล่า(ช่าง) ห้ามให้ผู้อื่นทำพิธีขึ้นเสามงคล(เสาเอก)คือเมื่อจะสร้างบ้านตนเองนั่นแหละเป็นผู้กระทำพิธี ห้ามให้ผู้อื่นมากระทำพิธี เป็นต้น
- เมื่อจะทำการใดๆเช่นการต่อสู้ การแสดงต่างๆ การออกจากบ้านไปทำงาน ค้าขายต้องทำการเชิญครูเข้ามาสู่กระหม่อมให้ความมั่นใจเรียกกันว่า “เฮียกผีครู” มาคุ้มครองให้งานสำเร็จ
- หากปกติสุขอยู่สบายดี เมื่อถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนเครื่องบูชาครูเมื่อกระทำพิธีก็มีคำเชิญผีครูมารับเครื่องสักการะบูชาจะเชิญผีครูที่สิ้นชีพไปแล้วแต่โบร่ำโบราณโดยเฉพาะวันพญาวันปี๋ใหม่เมืองล้านนาก็จะดำหัวผีครูเรียกกันว่าดำหัวผีครู ในพิธีนี้อาจมีการทบทวนวิชาการต่อสู้ ทดลองพระคาถาข่ามคงกระพันเช่น การ เป่าเสกมีดฟัน แทง เป็นต้น
- การดำหัวผีครูกับดำหัวครูคนละอย่างกัน การดำหัวครูหมายถึงการนำเครื่องสักการะดำหัวไปดำหัวครูที่ยังมีชีวิตอยู่ แต่ดำหัวผีครูคือพิธีการสักการะผีครูที่สิ้นชีพไปดังกล่าวแล้วพิธีการดำหัวคนล้านนาจะมอบขันน้ำให้ครูเอามือชุบน้ำขมิ้นส้มป่อยแล้วลูบหัวตนเอง ไม่นิยมรดมือครูถือว่า รดน้ำศพ ในล้านนาจึงมีแต่คำว่า”ดำหัว”ไม่มีคำว่ารดน้ำดำหัวเหมือนภาคกลาง
ติดต่อบูชา LINE : @mayakarnlanna